ตาเป็ดตาไก่ ๒

Psychotria asiatica L.

ชื่ออื่น ๆ
เข็ม (อุบลราชธานี); พังกะสนเขา, อีตู่ญวน (ตราด); ย่อม (เลย)
ไม้พุ่ม กิ่งอ่อนรูปทรงกระบอก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปขอบขนานแกมรูปรี หรือรูปไข่แกมรูปรี หูใบระหว่างก้านใบรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม ร่วงง่าย ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกที่ปลายยอดหรือคล้ายตามซอกใบ ดอกสีขาว รูปหลอดแคบปากบาน ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง สุกสีแดง เมล็ดมีเกราะแข็งรูปครึ่งทรงกลมหรือรูปครึ่งทรงรี สีน้ำตาลอมดำ ด้านหลังนูน มีสันตามยาว ๔ สัน มีร่องตามยาว ๒ ร่อง มีเมล็ด ๒ เมล็ด เนื้อเมล็ดย่น

ตาเป็ดตาไก่ชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๓ ม. กิ่งอ่อนรูปทรงกระบอก เกลี้ยงหรือมีขนประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปขอบขนานแกมรูปรี หรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง ๓.๖-๖.๑ ซม. ยาว ๙.๗-๑๙.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปราย หรือมีขนประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น ตุ่มใบเป็นรอยบุ๋ม ก้านใบยาว ๑.๑-๒.๔ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนประปราย หูใบระหว่างก้านใบรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๐.๔-๑ ซม. ยาว ๔.๕-๗.๒ มม. ร่วงง่าย ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ด้านในมีขนอุยสลับกับต่อมโคนหูใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกที่ปลายยอดหรือคล้ายตามซอกใบ ยาว ๒-๑๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑.๔-๒.๒ ซม. มีขนประปราย ก้านดอกยาว ๒.๕-๕ มม. ใบประดับรูปคล้ายเกล็ด กว้าง ๐.๘-๑.๑ มม. ยาว ๐.๖-๑ มม. ร่วงง่าย ใบประดับย่อยติดที่โคนก้านดอก รูปคล้ายเกล็ด ยาว ๐.๑-๐.๓ มม. ดอกสีขาว พบน้อยที่มีสีน้ำตาลอมแดง รูปหลอดแคบปากบาน ฐานดอกรูปถ้วย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๐.๕-๐.๖ มม. ด้านนอกมีขนละเอียด ด้านในเกลี้ยงหรือมีต่อมที่โคน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก พบน้อยที่มี ๖ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม ยาว ๐.๓-๐.๕ มม. ด้านนอกมีขนละเอียด ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาว ๒.๕-๓.๑ มม. ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนอุยที่คอหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก พบน้อยที่มี ๖ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ กว้าง ๒-๒.๖ มม. ยาว ๓.๒-๓.๕ มม. ปลายแหลม โค้งลง ขอบเรียบ แฉกกลีบดอกเรียงจดกันในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร พบน้อยที่มี ๖ เกสร ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๒ แบบ แบบมีก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๖-๐.๗ มม. อับเรณูรูปทรงรี ยาว ๐.๙-๑ มม. แบบมีก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๓-๑.๔ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว ๑-๑.๒ มม. จานฐานดอกรูปครึ่งวงกลม ยาว ๐.๕-๑ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ดอกที่มีก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒.๖-๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ผิวมีปุ่มเล็ก ดอกที่มีก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑.๒-๑.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ผิวมีขนประปราย

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือรูปทรงรี กว้าง ๔.๒-๕.๕ มม. ยาว ๕.๑-๖.๙ มม. ก้านผลยาว ๑.๓-๓.๓ มม. ผลสุกสีแดง เกลี้ยงหรือมีขนละเอียด เมล็ดมีเกราะแข็งรูปครึ่งทรงกลมหรือรูปครึ่งทรงรี กว้าง ๓.๕-๔ มม. ยาว ๓.๗-๔.๕ มม. สีน้ำตาลอมดำ ด้านหลังนูน มีสันตามยาว ๔ สัน อีกด้านเรียบ มีร่องตามยาว ๒ ร่อง มีเมล็ด ๒ เมล็ด เนื้อเมล็ดย่น

 ตาเป็ดตาไก่ชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ พบตามพื้นที่ร่มในป่าชายหาด ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขาระดับต่ำ ป่าไม้ก่อ-ไม้สน และป่าละเมาะเขาต่ำ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่จีน ญี่ปุ่น และภูมิภาคอินโดจีน

 ประโยชน์ มีรายงานการใช้ประโยชน์ตาเป็ดตาไก่ชนิดนี้ในตำรับยาพื้นบ้านของจีน โดยใช้ราก ลำต้น และใบ เป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษาอาการไข้ โรคคอตีบ และโรคบิด ปัจจุบันมีรายงานพบสารสกัดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง เช่น Psychorubrin.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเป็ดตาไก่ ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Psychotria asiatica L.
ชื่อสกุล
Psychotria
คำระบุชนิด
asiatica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
เข็ม (อุบลราชธานี); พังกะสนเขา, อีตู่ญวน (ตราด); ย่อม (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ธีระวัฒน์ ศรีสุข